top of page

บทเรียนเล็กๆ จากห้องตรวจในนิวยอร์ค


หมอต้อหิน

หมอเชื่อว่าสถานที่ และ สถานการณ์ต่างๆ มักมีเรื่องราวมากมายรอให้เรียนรู้ ถ้าเราพยายามจะเรียนรู้จากมัน

เหมือนในห้องตรวจคนไข้ตอนหมอฝึกงานอยู่ที่นิวยอร์ค ที่นอกจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาคนไข้โรคต้อหินแล้ว หมอยังได้บทเรียนเรื่องอื่นๆกลับมาด้วย

ตัวอย่างเช่น

การที่จักษุแพทย์จะต้องล้างมือให้คนไข้เห็นก่อนการตรวจทุกครั้ง และ หากคนไข้ไม่เห็น ก็มีสิทธิที่จะขอให้หมอ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ล้างมือให้เห็นได้

และแน่นอนว่า คนไข้ที่นิวยอร์คไม่เคยกลัว หรือ เขินอาย ที่จะรักษาสิทธิของพวกเขา

นอกจากความเป๊ะของคนไข้แล้ว ฝั่ง ด็อกเตอร์ “โรเบิร์ต ริชท์” ที่เป็นอาจารย์ของหมอตอนนั้น ก็มักจะเดินมาเหลือบดูถังขยะเป็นระยะๆ เพื่อดูว่ามีทิชชู่ในถังมากพอมั้ย กับจำนวนคนไข้ และ เวลาที่ผ่านไป เพราะถ้าทิชชู่ในถังขยะน้อยเกินไป

อาจจะหมายความว่าสุขอนามัย ที่น้อยกว่ามาตรฐานตามไปด้วย

ซึ่งนึกถึงเรื่องนี้ทีไร หมอก็อดอมยิ้มไม่ได้ว่า หมอต้อหินเบอร์หนึ่งของโลกนั้น นอกจาก”ตรวจตา” ให้ “คนไข้” แล้ว ยัง "ตรวจทิชชู่”ใน “ถังขยะ” ด้วย

การตรวจทิชชู่ของ ดอกเตอร์ ริชท์ เป็นเพียงแค่หนึ่งในเรื่องราวอีกมากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่ และ ความละเอียด แม้จะเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ

และหมอคิดว่า ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆเหล่านี้แหละค่ะ ที่พอรวมกันเข้า ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจน ต่อการดูแลรักษาคนไข้

และนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ด็อกเตอร์ ริชท์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นหมอต้อหิน อันดับหนึ่งของโลกค่ะ

หมอแนน

รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

bottom of page